พบพระนอนขนาดใหญ่ถูกทิ้งร้างกลางป่ากรุงเก่า
ชาวกรุงเก่าโชคดีเจอพระนอนขนาดใหญ่อายุกว่า 600 ปี ทิ้งไว้ในทุ่งร้างที่เรียกกันว่า "โคกพระนอน" ส่วนเศียรพระนอนหักกองอยู่กับพื้น มีขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยังคงความสวยสดงดงามมีสันจมูกดวงตา ส่วนปากแตกหัก กรมศิลปากร ระบุเป็นพระที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถ
13 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบพระนอนขนาดใหญ่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางทุ่ง "โคกพระนอน" เขตติดต่อ ต.คลองสวนพลู กับ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากมีน้ำท่วมขังและป่าหญ้าปกคลุมหนาแน่นต้องใช้เรือพายเข้าไป พบว่ามีสภาพรกร้างมีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมองค์พระนอน เมื่อถางหญ้าออกพบว่าที่ปลายเท้าแตกหัก ช่วงเอวหักขาดออกจากกัน ท่อนแขนหัก เป็นลักษณะปูนปั้น ส่วนเศียรพระนอนหักกองอยู่กับพื้น มีขนาดกว้าง1.50 เมตร ยังคงความสวยสดงดงามมีสันจมูกดวงตา ส่วนปากแตกหัก ใกล้กันพบเกศพระ ขององค์พระนอนอยู่ในสภาพชำรุด ความยาวทั้งองค์พระนอนประมาณ 10-15 เมตร ส่วนบริเวณโดยรอบขององค์พระนอน มีฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ
นายจุก ดีมาก อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 ม.3 ต.คลองสวนพลู ชาวบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโคกพระนอน เปิดเผยว่า จะเข้ามาพักอาศัยหลบแดดเวลาที่ออกมาหาปลา พบเห็นพระนอนองค์นี้ถูกทิ้งร้างมานาน จึงเข้ามาถากถางหญ้าที่องค์พระอยู่เป็นประจำ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากมีขนาดใหญ่กว่าพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพราะตนเคยเป็นช่างปั้นแต่งบูรณะพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล อยากให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะพระนอน ให้มีความสมบูรณ์เพื่อเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชา เนื่องจากบริเวณโดยรอบนี้ยังมีวัดเก่าแก่อีกหลายวัด หากปล่อยทิ้งไว้กลัวว่าตัวองค์พระนอนจะพังทลายลงมาอีก เห็นแล้วรู้สึกเวทนา เคยมีคนเข้ามาลักลอบขุดหาของเก่าแล้วต้องรีบเอาของกลับมาคืนเนื่องจากเจออาถรรพ์ต่างๆนาๆ ส่วนนัยน์ตาขององค์พระนอนถูกคนควักเอาไปน่าจะทำด้วยพลอยหรือนิล
ด้านนายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่าวัดพระนอนแห่งนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งนาอยู่ทางทิศตะวันออกในกลุ่มโบราณสถานอโยธยา ซึ่งกลุ่มจะมีวัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม วัดอโยธยา รวมทั้งวัดพระนอนแห่งนี้ อายุกว่า 600 ปี มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วงพ.ศ.1900 ถึง พ.ศ.2000 ต่อเนื่องหลายสมัยอยู่ในช่วงสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ยังไม่ชัดเจนว่าว่าพระองค์ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวัดจะมีวิหารขนาดใหญ่ คลุมองค์พระนอนองค์ใหญ่ ลักษณะปูนปั้น มีความยาวประมาณ 8 เมตร เป็นพระนอนที่มีความสวยสดงดงามองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนภายในวัดพระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และนอนในวัดขุนอินทรประมูล จ.อ่างทอง ปัจจุบันวัดนอนแห่งนี้ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า โคกพระนอน ถูกปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นรกร้างคลอบคลุมจนไม่สามารถมองเห็นได้ประกอบกับเมื่อปี2554ที่ผ่านมาน้ำท่วมเนินพระนอน โบราณสถานหลายแห่งถูกน้ำท่วมและมีการสำรวจจนพบองค์พระนอน ซึ่งทราบว่าสำนักงานศิลปากรที่ 3 ได้ทำแผนปรับปรุงบูรณะ โดยทางกรมศิลปากร จะเร่งเข้าไปตรวจสอบเพื่อทำการบูรณะ เชื่อว่าเมื่อบูรณะเสร็จจะเห็นรูปองค์พระนอนที่สวยงามและเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง