คำจารึกจากหลักศิลจารึก วัดเชียงแสน

วัดเชียงแสน
หรือวัดสาลกัลญาณมหันตาราม วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณมากตั้งแต่อดีต เป็นวัดที่มีประวัติว่า หมื่นดาบเรือนเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ ดังประวัติที่ปรากฏบนจารึก ที่มีจากการค้นพบ หลักศิลาจารึกของหมื่นดาบเรือน โดย ไกรศรี นิมานเหมินทร์  พบเจออยู่ภายในบริเวณวัดเชียงแสน มีรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร ชุดรุดไปส่วนด้านบนแต่ยังที่สามารถ จะอ่านตัวหนังสือได้โดยมีใจความว่า เป็นจารึกของอักษรสุโขทัย โดยมีการปริวรรตได้ความว่า
 เมื่อพระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราช [1]ได้ขึ้นเสยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ได้ทรงโปรดให้ราชมนตรีนายหนึ่ง ชื่อ เจ้าอดิชวญาณบวรสิทธิ เป็นหมื่นดาบเรือนในปีวอก สัมฤทธิศก(เปลิกสัน) จุลศักราช ๘๕๐  เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ วันพุธ  หมื่นดาบเรือนได้ชักชวนบรรดาทายกทายิกกาทั้งหลายเป็นต้นว่า ชาวพูเลาเป็นต้น มาประชุม เพื่อสร้างพระวิหาร พระเจดีย์ และหอพระไตรปิฎก เมื่อเสร็จแล้วขนานนามว่า สาลกัลญาณมหันตาราม ฝ่ายกษัตริย์เชียงใหม่ก็พระราชทานพระราชทานที่ดินให้เป็นวิสุงคามสีมา  หมื่นดาบเรือนจึงอาราธนาพระมหาเถร เช่น พระมหาเถรสุนทร วัดหมื่นพาย  ,พระมหา วชิรญาณ วัดหมื่นครึ้น  และพระภิษุกอีก ๙ รูป มาอุปถัมภ์วัดนี้  ปีจุลศักราช ๘๕๓ กษัตริย์เชียงใหม่พระราชทานมามีค่า ๔๘๐,๐๐๐ เบี้ย แก่หมื่นดาบเรือน ได้นำถวายไว้กับวัดนี้ โดยอ้างพันญาณรังสี ล่ามร้อยพรหม ล่ามโสมดาบเรือน และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคนเป็นพยานรู้เห็นด้วยกับการถวายนานี้ไว้แก่ วัดสาลกัลป์ญาณมหันตาราม นอกจากนี้หมื่นดาบเรือนได้ซื้อทาสถวายเป็นเลขวัด จำนวน ๒๕ ครัว มีจำนวน ๓๘ คน และได้มีบัญชีค่าก่อสร้างเจดีย์สิ้นเงิน ๑๔,๖๐๐ เบี้ย สร้างวิหาร ๑๑,๗๐๐ เบี้ย  สร้างหอพระไตรปิฎก ๑๑,๐๐๐  เบี้ย สร้างพระคัมภีร์ ๒๐,๐๐๐ เบี้ย ทำผ้าห่อคัมภีร์ ๑,๐๐๐ เบี้ย ค่าหล่อพระพุทธรูป ๕ องค์ ๖,๐๐๐เบี้ย และถวายเงินอีก ๓,๐๐๐ เบี้ย เพื่อตั้งเป็นมูลนิธิหาดอกผลใช้จ่ายเป็นค่าจังหัน ๑๐ สำรับ  และหมื่นดาบเรือนได้สาปแช่งไว้ว่า ถ้าผู้ใดเอาทรัพย์สินของวัดดังกล่าวออกไปจากวัดนี้และ ขอไฟไหม้ในอบายทั้ง ๔ อย่าให้หนีพ้น[2] (ปริวรรต ในหนังสือเครื่องถ้วยสันกำแพง ๒๕๐๓ )



[1] คาดว่าจะเป็นกษัตริย์ล้านนาสมัยของ พระยอดเชียงราย เพราปีที่จารึกไว้ คือ  จุลศักราช ๘๕๐ อยู่ในช่วงของ ปีพ.ศ. ๒๐๓๔  เพราะว่ารัชกาลพระยอดเชียงรายปกครองในปี พุทธศักราช  ๒๐๓๐ - ๒๐๓๘
[2] ไกรศรี นิมมานเหมินท์ .เครื่องถ้วยสันกำแพง sankampaeng glazed pottery .เชียงใหม่:ศูนย์หนังสือเชียงใหม่ (๒๕๒๖ )พิมพ์ครั้งที่ ๒,หน้า๓๕-๓๖