๑ สัปดาห์ ๑ ชิ้นกับการเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาจีนอย่างเชี่ยวชาญ
สัปดาห์นี้ (โพสต์เมื่อ ๒๔/๒/๒๐๑๔) โดย อาจารย์ Pariwat Thammapreechakorn
เหยือกเคลือบสีนวล
ผลิตจากกลุ่มเตาฉางซา (chángshā-長沙)
เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน (Húnán-湖南)
โดยมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่เตาถงกวน (Tóngguān-銅官)
ปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔
(ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๙)
ค้นพบจากแหล่งเรือเบลีตุง (บาตูฮิตัม-ก้อนหินสีดำ) ประเทศอินโดนีเซีย
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานทางทะเล (The Maritime Experiential Museum) สาธารณรัฐสิงคโปร์
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (คริสต์ศตวรรษที่ ๘) เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับปลายสมัยราชวงศ์ถัง พ่อค้าชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียได้เดินทางเข้ามาค้าขายกับพ่อค้าในประเทศจีน ทำให้เมืองกว่างโจวที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลของจีนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ และมีชาวอาหรับจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของมณฑลกว่างตง จนกระทั่งในเวลาต่อมาจึงมีการส่งเครื่องปั้นดินเผาจีนที่เป็นสินค้าออกจำนวนมากออกมาจำหน่าย ทำให้เป็นที่แพร่หลายในตลาดเอเชียแทบทุกแห่ง
เหยือกหรือกาใบนี้มีลักษณะทรงกระบอก คอยาว ริมผายออก รูปทรงจะได้รับอิทธิพลจากเครื่องโลหะของประเทศแถบเอเชียตะวันตก ไหล่ปั้นติดหู ๓ หูในแนวตั้งคล้ายเส้นเชือก โดยหูที่อยู่ตรงกับพวยจะทำหน้าที่เป็นที่จับ พวยรูป ๖-๘ เหลี่ยม ค่อนข้างสั้น นอกจากนี้ไหล่ยังปั้นติดลวดลายที่เกิดจากการกดพิมพ์ ได้แก่ นกเขาคู่และผลองุ่น จากนั้นจึงทาหรือแต้มทับลายด้วยสีน้ำตาลอมสีเหลืองหรือสีน้ำตาลไหม้ก่อนชุบน้ำเคลือบ เนื้อดินมีสีขาวอมสีเทา ละเอียด เคลือบมีสีนวล ใส และมีรอยราน เคลือบไม่จรดเชิง เหยือกที่มีลักษณะแบบเดียวกันนี้ถูกค้นพบที่บริเวณคลองท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และที่ทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เดิมก็คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรศรีวิชัย สำหรับแหล่งขุดค้นในต่างประเทศถูกค้นพบที่จังหวัดเสียมเรียบ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมืองซีราฟ บริเวณอ่าวเปอร์เชีย เมืองนิชาปูร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน และเมืองฟอสตัส เมืองไคโรเก่า ประเทศอียิปต์ และที่จันทิพรัมบานัม จันทิบุโรพุทโธ เกาะชวาภาคกลาง และจากแหล่งเรือเบลีตุง ประเทศอินโดนีเชีย
ที่มา
Pariwat Thammapreechakorn